อนาคตสดใส! 10 อาชีพยอดฮิต เรียนนิติศาสตร์ จบมาทํางานอะไรได้บ้าง?
การเรียนนิติศาสตร์อาจดูเป็นเรื่องที่ท้าทายและซับซ้อน แต่เมื่อเราได้ก้าวเข้าไปเรียนรู้และเข้าใจกฎหมายอย่างจริง ๆ จัง ๆ แล้ว เราจะพบว่ามันเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะกฎหมายอยู่รอบ ๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจ การทำสัญญา การซื้อขาย การแต่งงาน หรือแม้แต่การขับรถ การเรียนนิติศาสตร์จะทำให้เราเข้าใจสิทธิและหน้าที่ของตัวเอง และสามารถปกป้องสิทธิของตัวเองได้อย่างถูกต้อง ไม่ต้องห่วงว่าเรียนนิติศาสตร์ จบมาทํางานอะไรได้ เพราะเส้นทางอาชีพนิติศาสตร์ไม่ได้ถูกจำกัดว่าต้องเป็นทนายความเท่านั้น แต่ยังมีอาชีพเกี่ยวกับกฎหมายที่หลากหลายให้เราเลือก
คณะนิติศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับอะไร?
คณะที่เปิดให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นวิชาพื้นฐานของนิติศาสตร์ กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง กฎหมายธุรกิจ หรือแม้แต่กฎหมายระหว่างประเทศ เรียนรู้วิธีตีความกฎหมาย วิเคราะห์คดี และนำความรู้ทางกฎหมายไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง แล้วเรียนนิติศาสตร์ นอกจากเป็นทนายความแล้ว จบมาทํางานอะไรได้บ้าง? ไปดูกันต่อเลย
10 อาชีพสุดฮิตของคนจบนิติศาสตร์ ทํางานอะไรได้บ้าง
1. นักวิชาการด้านกฎหมาย
อาชีพนี้มักจะมีส่วนร่วมในการวิจัย ศึกษา และวิเคราะห์กฎหมายในหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง และอื่น ๆ ผลงานวิจัยของพวกเขาจะถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยส่วนมากจะทำงานในมหาวิทยาลัย หรือสถาบันวิจัยแห่งชาติ
2. เจ้าหน้าที่รัฐ
หลายคนไม่รู้ว่าที่จบนิติศาสตร์ ทํางานราชการอะไรได้บ้าง ขอยกตัวอย่างชัด ๆ เลยคือ เจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย หรือสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งมีหน้าที่หลักในการบังคับใช้กฎหมาย การออกกฎหมาย และการบริหารงานด้านกฎหมาย เช่น การพิจารณาคดี การร่างกฎหมาย เป็นต้น
3. เจ้าหน้าที่สืบสวน
ความรู้ทางกฎหมายที่ได้จากการเรียนนิติศาสตร์ จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สืบสวนสามารถเข้าใจกระบวนการยุติธรรมได้อย่างดี สามารถสืบสวนหาพยานหลักฐานเพื่อนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิด และนำตัวส่งฟ้องต่อศาล โดยใช้ความรู้ทางกฎหมายในการรวบรวมพยานหลักฐานให้ถูกต้อง และสามารถนำเสนอพยานหลักฐานเหล่านั้นต่อศาลได้อย่างมีน้ำหนัก
4. ผู้ตรวจสอบบัญชี
ผู้ตรวจสอบบัญชี อาจไม่ใช่อาชีพแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึงเมื่อพูดถึงผู้จบการศึกษาด้านนิติศาสตร์ แต่ความจริงแล้ว ความรู้ทางกฎหมายกลับเป็นประโยชน์อย่างมากในการประกอบอาชีพนี้ โดยงานของผู้ตรวจสอบบัญชีไม่ได้จำกัดอยู่แค่ตัวเลข แต่ยังเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบัญชีด้วย เช่น กฎหมายภาษีอากร และกฎหมายหลักทรัพย์ ตลอดจนสามารถประเมินความเสี่ยงทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ
5. นิติกร
ผู้ที่จะเป็นนิติกร ต้องจบอะไร? จบคณะอื่นที่ไม่ใช่คณะนิติศาสตร์ได้หรือไม่? ต้องขอบอกว่านิติกร มาจากคำว่า “นิติศาสตร์” ซึ่งหมายถึง ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับกฎหมาย และ กร หมายถึง ผู้ที่ทำกิจกรรมนั้น ๆ ซึ่งจำเป็นต้องจบนิติศาสตร์โดยตรง โดยนิติกร คือ ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางกฎหมาย มีหน้าที่หลักในการให้คำปรึกษา รวมถึงเป็นตัวแทนในการดำเนินคดีต่อสู้คดีในศาล คล้าย ๆ ทนายความ แต่ทนายความจะมีความเฉพาะเจาะจงกว่า เช่น ทนายความที่ทำงานในศาล
6. พนักงานธนาคาร
บัณฑิตนิติศาสตร์ที่ทำงานในธนาคารมักจะถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เช่น การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ การจัดทำสัญญาต่าง ๆ บริหารความเสี่ยงทางกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นพนักงานที่มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายอย่างลึกซึ้ง
7. ทนาย
จบนิติศาสตร์ ทำงานอะไร? คำตอบส่วนมากก็ต้องนึกถึง ‘ทนายความ’ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่บุคคลหรือองค์กร และร่างเอกสารทางกฎหมายต่าง ๆ เช่น สัญญา หรือคำฟ้อง สามารถทำงานในองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน หรือเปิดสำนักงานกฎหมายเป็นของตัวเองได้อีกด้วย ซึ่งเงินเดือนของทนายความ นั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ
8. อัยการ
อาชีพอัยการเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ผู้สำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์ มีหน้าที่หลักในการเป็นตัวแทนของรัฐในการดำเนินคดีอาญา หากเป็นคนที่ชอบความยุติธรรม มีความรู้ความสามารถ และมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อสังคม การเลือกเรียนกฎหมายเพื่อเป็นอัยการก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ
9. ผู้พิพากษา
ผู้พิทักษ์ความยุติธรรม มีหน้าที่ตัดสินคดีความต่าง ๆ โดยอาศัยหลักฐานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง งานหลักของผู้พิพากษา คือการฟังการพิจารณาคดีทั้งสองฝ่าย ตรวจสอบพยานหลักฐาน และใช้ดุลพินิจในการตัดสินคดีตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ ต้องมีทักษะที่พร้อมทั้งในเรื่องของการวิเคราะห์ การตัดสินใจ การสื่อสาร และการเขียน
10. นักการเมือง
การเป็นนักการเมืองนั้นมีความหลากหลายของบทบาทมาก ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น รัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือแม้แต่การเป็นนักวิชาการทางการเมืองให้กับพรรคการเมือง หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง นักการเมืองมีหน้าที่ในการออกกฎหมาย ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และเป็นตัวแทนของประชาชน
เพียงแค่นี้ก็ชัดแล้วว่าเรียนนิติศาสตร์ จบมาทํางานอะไรได้มากกว่าที่คิดไว้จริง ๆ นอกจาก 10 เส้นทางอาชีพนิติศาสตร์ที่ได้แนะนำไปแล้ว ความรู้และทักษะที่ได้จากการเรียนนิติศาสตร์ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอาชีพอื่น ๆ ได้อีกมากมาย เช่น ผู้บริหาร นักเขียน อาจารย์ นักธุรกิจ เพราะอาชีพเหล่านี้ต้องการบุคคลที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ วิจารณญาณที่ดี มีความรอบคอบ และสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นทักษะที่บ่มเพาะมาจากการเรียนนิติศาสตร์นั่นเอง
อยากเรียนนิติศาสตร์ เตรียมตัวอย่างไรดี?
1. เข้าใจตัวเอง: สนใจกฎหมายแขนงใดเป็นพิเศษ จะช่วยให้เราเลือกเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องได้ตรงจุด อีกทั้ง การเรียนนิติศาสตร์ต้องใช้ความอดทนและความพยายามสูง เพราะต้องอ่านหนังสือเยอะและวิเคราะห์คดีที่ซับซ้อน การสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองจะช่วยให้เราตั้งใจเรียนและมีแรงผลักดันได้มากขึ้น
2. ปรึกษาคนที่จบนิติศาสตร์: ขอคำแนะนำเกี่ยวกับชีวิตในมหาวิทยาลัย เทคนิควิธีการอ่านหนังสือ หรือเส้นทางอาชีพนิติศาสตร์ที่น่าสนใจ เพื่อเป็น Final Decision ในการเลือกเรียนนิติศาสตร์
3. พัฒนาทักษะที่จำเป็น: ฝึกอ่านหนังสือวิชาการและบทความทางกฎหมาย ศึกษาข้อสอบเก่า เพื่อเพิ่มความรู้และความเข้าใจ
4. เลือกมหาวิทยาลัย: ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่สมัคร ดูหลักสูตร พร้อมเตรียมเอกสารที่ต้องใช้สมัคร
เรียนนิติศาสตร์ สร้างอนาคตไกล ที่มหาวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก
หลายคนมักจะสงสัยว่าอยากเรียนนิติศาสตร์ ต้องเก่งอะไร? จริง ๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องเก่งแค่ด้านเดียว แต่สิ่งที่สำคัญของการเรียนกฎหมาย คือ การพัฒนาทักษะต่าง ๆ เช่น การวิเคราะห์ การตีความ การใช้เหตุผล หรือแม้แต่ทักษะการสื่อสารที่ดีเยี่ยม เพราะการเรียนกฎหมายไม่ได้จำกัดอยู่แค่การท่องจำบทบัญญัติกฎหมาย แต่ยังต้องนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงอีกด้วย มหาวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก เลยสร้างหลักสูตรที่สอนทั้งทฤษฎี และเน้นการฝึกปฏิบัติจริงผ่านการจำลองคดี การเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือทางกฎหมาย เสมือนได้ทำงานจริง มั่นใจได้เลยว่าจบไปแล้วมีงานทำแน่นอน ใครอยากรู้ว่าชีวิตนิสิตนิติศาสตร์ที่เซาธ์อีสท์ กดสมัครผ่าน admission.southeast.ac.th ได้เลย!